ภาษีที่เกี่ยวข้องกรณีเช่ารถยนต์.

ภาษีที่เกี่ยวข้องกรณีเช่ารถยนต์.

การเช่ารถยนต์เพื่อใช้ในการประกอบกิจการ มีข้อดีคือไม่ต้องรับภาระอัตราดอกเบี้ย การประกันภัย ไม่ต้องเสียค่าซ่อมบำรุงหรือตรวจเช็คสภาพรถยนต์ตลอดอายุการใช้งาน และไม่ต้องลงทุนจ่ายเงินก้อนใหญ่ในการซื้อ ในที่นี่มีข้อมูลภาษีต่างๆที่เกี่ยวข้อองกับผู้เช่าและผู้ให้เช่าที่น่าสนใจและน่าศึกษาเพื่อนำมาปรับใช้ในธุรกิจดังนี้

ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

กรณีนิติบุคคลเช่ารถยนต์ที่มีการส่งมอบการครอบครองรถยนต์ ถือเป็นการเช่า ผู้เช่ารถยนต์มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย 5%

ภาษีเงินได้นิติบุคคล

ค่าเช่าทรัพย์สินประเภทรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตสามารถนำค่าเช่ารถยนต์มาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินคันละ 36,000 บาทต่อเดือน (ตามมาตรา 65 ตรี) (20) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4 (2) แห่งพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 315) พ.ศ.2540)

ภาษีมูลค่าเพิ่ม

ภาษีซื้อที่เกิดจากการเช่าทรัพย์สินประเภทรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพาสามิต ภาษีซื้อดังกล่าวถือเป็นภาษีซื้อต้องห้าม ไม่สามารถนำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม (ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42 ข้อ 2 (1)

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

กรณีบุคคลธรรมดาให้เช่ารถยนต์ ถือเป็นเงินได้พึงประเมินมาตรา 40 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ประเภทค่าเช่า ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตอนครึ่งปี ด้วยแบบ ภงด. 94 ภายในกำหนดเวลาการยื่นแบบตั้งแต่เดือน กรกฎาคมถึงเดือนกันยายนของปีภาษี และต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตอนสิ้นปี ด้วยแบบ ภงด.90 ภายในกำหนดเวลาตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคมของปีภาษีถัดไป สำหรับการหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการเช่ารถยนต์ ในกรณีเจ้าของเป็นผู้ให้เช่าให้หักค่าใช้จ่ายได้ 30%  และในกรณีให้เช่าช่วงให้หักค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าเช่าที่เสียให้แก่ผู้เช่าเดิมหรือผู้ให้เช่าช่วงแล้วแต่กรณี

ที่มา กรมสรรพากร