ภาษีป้าย

ภาษีป้าย

การประกอบกิจการหรือเปิดกิจการร้านค้า มักจะมีป้ายชื่อร้าน ชื่อกิจการที่ติดอยู่เพื่อแสดงชื่อร้านหรือชื่อกิจการเพื่อโฆษณาร้าน กิจการนอกจากเสียภาษีจากรายได้ของกิจการแล้วก็ยังมีเรื่องภาษีป้ายที่สำคัญอีกหนึ่งเรื่องที่ต้องเสียภาษีมารู้จักเกี่ยวกับภาษีป้ายว่าคืออะไรเสียภาษีอย่างไร

ภาษีป้าย คือ ภาษีที่จัดเก็บจากป้ายโฆษณาสินค้าต่างๆ

ป้ายที่ต้องเสียภาษี คือ ป้ายที่แสดงชื่อ ยี่ห้อเครื่องหมายที่ใช้ในการประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่นเพื่อหารายได้ ไม่ว่าจะได้แสดงหรือโฆษณาไว้ที่วัตถุใดๆ ด้วยอักษร หรือเครื่องหมายที่เขียน แกะสลัก จารึก หรือทำให้ปรากฏด้วยวิธีใดๆ

ป้ายที่ไม่ต้องเสียภาษีป้าย

  1. ป้ายที่แสดงไว้ ณ โรงมหรสพและบริเวณของโรงมหรสพนั้นเพื่อโฆษณามหรสพ
  2. ป้ายที่แสดงไว้ที่สินค้าหรือที่สิ่งหุ้มห่อหรือบรรจุสินค้า
  3. ป้ายที่แสดงไว้ในบริเวณงานที่จัดขึ้นเป็นครั้งคราว
  4. ป้ายที่แสดงไว้ที่คนหรือสัตว์
  5. ป้ายที่แสดงไว้ภายในอาคารที่ใช้ประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่นหรือภายในอาคารซึ่งเป็นที่รโหฐาน เพื่อหารายได้ และแต่ละป้ายมีพื้นที่ไม่เกินที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งกำหนดไว้ต้องมีขนาดไม่เกิน 3 ตารางเมตร แต่ไม่รวมถึงป้ายตามกฎหมายด้วยทะเบียนพาณิชย์
  6. ป้ายของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาคหรือราชการส่วนท้องถืชิ่นตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
  7. ป้ายขององค์การที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาลหรือตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นๆและหน่วยงานที่นำรายได้ส่งรัฐ
  8. ป้ายของธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการสหกรณ์ และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
  9. ป้ายของโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนหรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ที่แสดงไว้ ณ อาคารหรือบริเวณของโรงเรียนเอกชน หรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนนั้น
  10. ป้ายของผู้ประกอบการเกษตรซึ่งค้าผลผลิตอันเกิดจากการเกษตรของตน
  11. ป้ายของวัดหรือผู้ดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์แก่การศาสนา หรือการกุศลสาธารณะโดยเฉพาะ
  12. ป้ายของสมาคมหรือมูลนิธิ
  13. ป้ายที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 กำหนดป้ายที่ได้รับยกเว้นให้เจ้าของป้ายไม่ต้องเสียภาษีป้าย สำหรับ
  • ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงที่รถยนต์ส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ รถบดถนนหรือรถแทรกเตอร์ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์
  • ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่ล้อเลื่อน ตามกฎหมายว่าด้วยล้อเลื่อน
  • ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่ยานพาหนะนอกเหนือจาก (ก) และ (ข) โดยมีพื้นที่ไม่เกิน 500 ตารางเซนติเมตร

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้าย

ได้แก่ เจ้าของป้าย หรือในกรณีที่ไม่อาจหาตัวเจ้าของป้ายได้ให้ถือว่าผู้ครอบครองป้ายนั้นเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้าย หรือหากหาผู้ครอบครองป้ายนั้นไม่ได้ให้ถือว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือที่ดินที่ป้ายนั้นติดตั้งหรือแสดงอยู่เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้ายตามลำดับ

สถานที่รับชำระภาษีป้าย

  • กรุงเทพ ได้แก่ สำนักงานเขต และศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงชา) ที่ป้ายนั้นติดตั้งอยู่
  • ต่างจังหวัด ได้แก่ เทศบาลสุขาภิบาลองค์การบริหารส่วนจังหวัด เมืองพัทยา เขตเทศบาล เขตสุขาภิบาล เขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด และเขตเมืองพัทยา ที่ป้ายนั้นติดตั้งอยู่
  • สถานที่อื่นที่ผู้บริหารท้องถิ่นกำหนด โดยประกาศหรือโฆษณาให้ทราบเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน นับแต่วันประกาศหรือโฆษณา

กำหนดระยะเวลาให้ยื่นแบบแสดงรายการ

  • การชำระภาษีป้ายจะต้องชำระเป็นประจำทุกปีโดยชำระตั้งแต่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม ของทุกปี
  • ป้ายที่ติดตั้งใหม่หรือมีการเปลี่ยนแปลงหลังจากเดือนมีนาคมให้ยื่นแบบภายใน 15 วัน นับแต่วันติดตั้งหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไข ยกเว้นป้ายที่เริ่มติดตั้งในปีแรกให้เสียภาษีป้ายตั้งแต่วันเริ่มติดตั้งจนถึงวันสิ้นปีและคิดภาษีเป็นรายงวด งวดละ 3 เดือน โดยเริ่มเสียภาษีตั้งแต่งวดที่ติดตั้งป้ายจนถึงงวดสุดท้ายของปี

ขั้นตอนการขอติดตั้งป้ายและชำระภาษีป้าย

  1. ตรวจสอบความปลอดภัยของการติดตั้งป้ายก่อนที่จะนำป้ายไปติดตั้งเราควรแจ้งขนาดของป้ายรวมถึงภาพก่อนหรือภาพสเก็ตของป้าย พร้อมด้วยแผนผังที่ตั้งของบริเวณที่เราต้องการจะติดตั้งป้ายนั้นเพื่อนำมาประกอบคำขออนุญาตติดตั้งกับทางสำนักงานเขตเทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบลที่เราอาศัยอยู่เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบก่อนว่าลักษณะป้ายของเรานั้นสร้างความเดือดร้อนที่ส่งผลให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนหรือไม่ เช่น บริเวณที่คร่อมถนนบริเวณเสาไฟฟ้า ถนน ต้นไม้ และอื่นๆ ที่อยู่บริเวณสาธารณะ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว หากใช้บริการจากร้านทำป้ายทางร้านจะดำเนินการขอใบอนุญาตให้กับเราได้ด้วย
  2. หลังจากได้รับอนุญาตให้เตรียมเอกสารหลักฐานประกอบการเสียภาษีป้ายต่อไปนี่ให้ครบถ้วน เพื่อนำไปยื่นชำระภาษี
  • บัตรประจำตัวประชาชน
  • สำเนาทะเบียนบ้าน
  • ทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
  • หนังสือรับรองห้างหุ้นส่วน
  • ใบอนุญาตติดตั้งป้าย หรือใบเสร็จรับเงินจากร้านทำป้าย
  1. กรณีที่เคยยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีป้ายไว้แล้ว ควรนำใบเสร็จรับเงินค่าภาษีป้ายจากปีก่อนมาแสดงด้วย เมื่อได้เอกสารทั้งหมดพร้อมตามนี้แล้ว เจ้าของป้ายนั้นจะต้องไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ภ.ป.1)พร้อมด้วยหลักฐานทั้งหมด (ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงป้ายต้องทำการยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายเพื่อทำการประเมินภาษีป้ายใหม่ทุกครั้ง) และดำเนินการยื่นแบบแสดงรายการภาษี พนักงานจะดำเนินการได้ 2 กรณี คือ
  • กรณีแรกคือเมื่อเราพร้อมชำระภาษีป้ายได้ทันทีเมื่อเจ้าหน้าที่ทำการประเมินภาษีทั้งหมดให้กับเราแล้ว
  • กรณีที่สองจะเกิดขึ้นเมื่อเราไม่พร้อมชำระภาษีเมื่อได้รับการประเมินภาษีป้ายทั้งหมดแล้ว เจ้าหน้าที่จะมีหนังสือแจ้งการประเมินและแจ้งหนี้ทั้งหมดที่เราต้องชำระในภายหลัง ซึ่งเราจะมีเวลาเพียง 15 วัน นับตั้งแต่ได้รับการประเมินในการชำระภาษีป้ายนี้

ค่าปรับและบทลงโทษ

ค่าปรับหรือเรียกว่าเงินเพิ่ม คือ การไม่ได้ชำระภาษีป้ายตามกำหนดเวลา จะต้องเสียเงินเพิ่มด้วย โดยผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะต้องเสียเงินเพิ่มนอกจากภาษีป้ายในกรณีและอัตรา ดังนี้

  • ไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายภายในกำหนด ให้เสียเงินเพิ่มร้อยละ 10 ของจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีป้าย เว้นแต่กรณีที่เจ้าของป้ายได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายก่อนที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะได้แจ้งให้ทราบถึงการละเว้นนั้นให้เสียเงินเพิ่มร้อยละ 5 ของจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีป้าย
  • ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายโดยไม่ถูกต้องทำให้จำนวนเงินที่จะต้องเสียภาษีลดน้อยลงให้เสียเงินเพิ่มร้อยละ 10 ของภาษีป้ายที่ประเมินเพิ่มเติม เว้นแต่กรณีที่เจ้าของป้ายได้มาขอแก้ไขแบบแสดงรายการภาษีป้ายให้ถูกต้องก่อนที่พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งการประเมิน

บทลงโทษ

  • ผู้ใดจงใจไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท
  • ผู้ใดไม่แสดงชื่อ – ที่อยู่เจ้าของป้ายเป็นอักษรไทยให้ชัดเจนที่มุมขวาด้านล่างของป้าย ซึ่งติดตั้งบนอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นและมีพื้นที่เกิน 2 ตารางเมตร ต้องระวางโทษปรับวันละ 100 บาท ทุกวันตลอดระยะเวลาที่กระทำผิด
  • ผู้ใดไม่แจ้งการรับโอนป้าย ภายใน 30 วัน ตั้งแต่วันรับโอน ต้องระวางโทษปรับ ตั้งแต่ 1,000 – 10,000บาท
  • ผู้ใดรู้อยู่แล้ว หรือโดนจงใจแจ้งข้อความอันเป็นเท็จให้ถ้อยคำเท็จ ตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จหรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดงเพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีป้ายต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ผู้ใดขัดขวางการปฎิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบหรือไม่ปฎิบัติตามคำสั่งเป็นหนังสือเรียกมาให้ถ้อยคำหรือส่งบัญชีหรือเอกสารเกี่ยวกับภาษีป้ายมาตรวจสอบ ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 1,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ฐานภาษี

ฐานภาษี ให้คิดจากเนื้อที่ของป้าย กว้าง X ยาวและอัตราภาษีให้คิดจากประเภทของป้าย เช่น เป็นอักษรไทย หรือต่างประเทศหรือรูปภาพ

ป้ายที่มีขอบเขตกำหนดได้ การคำนวณพื้นที่ป้ายให้เอาส่วนกว้างที่สุดคูณด้วยส่วนยาวที่สุดเป็นขอบเขตของป้าย

ป้ายที่ไม่มีขอบเขตกำหนดได้ ให้ถือเอาตัวอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายที่อยู่ริมสุดเป็นขอบเขต สำหรับกำหนดส่วนที่กว้างที่สุดและยาวที่สุด และคำนวณตามตารางเซนติเมตร

คำนวณพื้นที่เป็นตารางเซนติเมตร เศษของ 500 ตารางเซนติเมตร ถ้าเกินครึ่งให้นับเป็น 500 ตารางเซนติเมตรถ้าต่ำกว่าปัดทิ้ง

 

 

อัตราภาษีป้าย

ประเภทป้าย

  • อักษรไทยล้วน 3 บาท/500 ตารางเซนติเมตร
  • อักษรไทยปนอักษรต่างประเทศ/ภาพ/เครื่องหมายอื่นๆ 20 บาท/500 ตารางเซนติเมตร
  • ป้ายดังต่อไปนี้ คิด 40 บาท/500ตารางเซนติเมตร) ไม่มีอักษรไทย ,อักษรไทยบางส่วนหรือทั้งหมดอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ
  • ป้ายที่เปลี่ยนแปลงแก้ไขพื้นที่ป้าย ข้อความภาพ หรือเครื่องหมายบางส่วนในป้ายได้เสียภาษีแล้วอันเป็นเหตุให้ต้องเสียภาษีป้ายเพิ่มขึ้นให้คิดอัตรา 1,2 หรือ 3 แล้วแต่กรณีและเสียเฉพาะเงินภาษีที่เพิ่มขึ้น
  • ป้ายใดเมื่อคำนวณแล้ว จำนวนเงินต่ำกว่า 200 บาท ให้เสีย 200 บาท

 ที่มากรมสรรพากร