ลดหย่อนภาษีค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร

ลดหย่อนภาษีค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร

“ค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร”  หมายถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการรักษาพยาบาลอันเนื่องมาจากการตั้งครรภ์และการคลอดบุตร  ไม่ว่าจะเป็นค่าตรวจและรับฝากครรภ์ ค่าบำบัดทางการแพทย์ ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าทำคลอด และค่ากินอยู่ในสถานพยาบาล ไม่ว่าทารกที่คลอดจะมีชีวิตรอดหรือไม่

“สถานพยาบาล”  หมายถึง สถานพยาบาลของทางราชการและสถานพยาบาลของเอกชน

มาตรการด้านภาษีเกี่ยวกับค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรได้มีกฎกระทรวงฉบับที่ 338 (พ.ศ. 2561) และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่331)กำหนดให้ผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสสามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงสำหรับการตั้งครรภ์แต่ละคราวแต่ไม่เกิน 60,000 บาท

สิทธิลดหย่อนภาษีค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร ไม่เกิน 60,000 บาท

  • ค่าใช้จ่ายต้องเป็นค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร
  • ค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรสำหรับการตั้งครรภ์หากมิได้จ่ายในปีภาษีเดียวกันให้ได้รับยกเว้นภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริงในแต่ละคราวที่มิได้จ่ายในปีภาษีเดียวกัน แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 60,000 บาท
  • สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป
  • เอกสารที่ต้องนำมาแสดงเพื่อขอใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้ค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร ได้แก่ ใบรับรองแพทย์ ใบเสร็จรับเงิน หรือหลักฐานอื่นที่แสดงว่าผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสได้จ่ายค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร

การยกเว้นภาษีเงินได้ค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรต้องเป็นไปตามเงื่อนไขดังนี้

  • สามีหรือภริยามีเงินได้ฝ่ายเดียว ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรให้แก่สามีหรือภริยา ซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 60,000 บาท
  • สามีหรือภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ ต่างยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินที่ตนได้รับ ไม่ว่าจะแยกยื่นรายการสำหรับเงินได้พึงประเมินทุกประเภท หรือเฉพาะส่วนที่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ให้ภริยาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรได้เต็มจำนวนตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 60,000 บาท
  • สามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้แล้วยื่นรายการและเสียภาษีรวมกันโดยเอาเงินได้พึงประเมินของตนเป็นเงินได้ของสามีหรือภริยาอีกฝ่ายหนึ่ง ให้ผู้มีเงินได้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 60,000 บาท
  • สามีหรือภริยาจ่ายค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรสำหรับการตั้งครรภ์ในคราวเดียวกันแต่ละปีภาษี ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงในแต่ละปีภาษี แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 60,000 บาท
  • สามีหรือภริยาจ่าค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรสำหรับการตั้งครรภ์หลายคราวในปีภาษีเดียวกัน ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรตามจำนวนที่จ่ายจริงสำหรับการตั้งครรภ์แต่ละคราว คราวละไม่เกิน 60,000 บาท

 

ที่มากรมสรรพากร